myHealthWorld myHealthThink myHealthPeek myHealthMob License AgreementPrivacy PolicySupport Center
Product
myHealthFirst myHealthCare myHealthMob myHealthThink myHealthRoom Plug Tablet
Service
Smart Hospital Corporate Wellness Home Monitoring
Download
myHealthFirst APK
Contact
Login
หญ้าหวาน ทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ จริงหรือ?

หญ้าหวาน ทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ จริงหรือ?

         หญ้าหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni หรือเรียกสั้น ๆ ว่า สตีเวีย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ หญ้าหวานถูกนำมารับประทานใน 2 รูปแบบ คือ ต้มดื่มรวมกับชาสมุนไพรเพื่อให้รสหวานแก่ชานั้น และใช้ในรูปของสารสกัดหญ้าหวานหรือที่เรียกว่า สตีวิออลไกลโคไซด์ ซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีหลายชนิด เช่น Reb A, Reb B เป็นต้น สารสกัดหญ้าหวานมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 150-300 เท่า ฤทธิ์ในการออกรสหวานช้ากว่าน้ำตาลทรายและจะจางหายไปช้ากว่า บางครั้งมีรสขมขึ้นอยู่กับความสามารถในการสกัด ดังนั้น ต้องนำมาเจือจางด้วยสารอื่น นอกจากนี้ สารสกัดหญ้าหวานยังปราศจากพลังงานเนื่องจากไม่ถูกย่อย สารสกัดจากหญ้าหวานสามารถทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหาร ในเรื่องความปลอดภัยของหญ้าหวาน มีงานวิจัยทั้งทางชีววิทยา พิษวิทยา และทางคลินิก ที่ยืนยันว่าสารสกัดจากหญ้าหวานที่มีความบริสุทธิ์มีความปลอดภัย และสามารถใช้ได้กับทุกคนในครอบครัว รวมทั้งเด็กและสตรีมีครรภ์ สารสกัดนี้ไม่เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ จึงได้รับการอนุญาตให้สามารถนำมาใช้ในอาหารและเครื่องดื่มได้1 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ข้อสรุปว่า ค่าความปลอดภัยสำหรับปริมาณการบริโภคสำหรับสารสกัดหญ้าหวาน คือ 7.938 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. ซึ่งสูงมาก ในความเป็นจริง เพียง 2 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. ก็หวานมากแล้ว นอกจากนี้มีข้อมูลวิจัยค้นพบว่า สารสกัดจากหญ้าหวานมีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีผลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลิน สารสกัดจากหญ้าหวานถูกนำมาใช้ เพื่อทดแทนน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เป็นต้น โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในยุโรป ได้อนุญาตให้มีการใช้หญ้าหวานในส่วนผสมเครื่องดื่มตั้งแต่ พ.ศ. 2551 และ 2554 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศอนุญาตให้มีการผลิตและจำหน่ายหญ้าหวาน ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 262 พ.ศ. 2545 เรื่องสตีวิโอไซด์ และอาหารที่มีส่วนผสมของสตีวิโอไซด์) และประกาศให้สารสกัดสตีวิออลไกลโคไซด์เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 360 เรื่องสตีวิออลไกลโคไซด์) สารสกัดหญ้าหวานจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่รักสุขภาพต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือเป็นโรคเบาหวานโดยนำมาใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาล

ที่มาบทความ : หนังสือไขข้อข้องใจด้านอาหารและโภชนาการ

โพสต์เมื่อ : 04/05/2018
บทความที่คุณอาจสนใจ