myHealthWorld myHealthThink myHealthPeek myHealthMob License AgreementPrivacy PolicySupport Center
Product
myHealthFirst myHealthCare myHealthMob myHealthThink myHealthRoom Plug Tablet
Service
Smart Hospital Corporate Wellness Home Monitoring
Download
myHealthFirst APK
Contact
Login
ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

          โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อย และคนส่วนใหญ่ก็มักไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ซึ่งหากปล่อยไว้และเป็นนาน ๆ เข้า อาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย มารู้จักโรคนี้กัน เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้องต่อไป

ความดันโลหิต คือ อะไร?
          ความดันโลหิต คือ ค่าความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ ส่งผ่านหลอดเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีสองค่าคือ คือค่าความดันตัวบน เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว และค่าความดันตัวล่าง เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว

โรคความดันโลหิตสูง สำคัญอย่างไร?
          โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งมักจะไม่มีอาการใดๆ จึงเป็นภัยเงียบที่กว่าจะรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การที่เรารู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระยะแรกๆ สามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
          มากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีสาเหตุ มีเพียงส่วนน้อยที่มีสาเหตุ เช่น โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคไต โรคของหลอดเลือดบางประเภท ที่ทำให้ความดันโลหิตสูงได้ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีความดันโลหิตสูง มีหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม เชื้อชาติ ภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน และการรับประทานอาหารเค็มจัด เป็นต้น

ความดันโลหิตเท่าไหร่ดี?
          ปัจจุบัน ค่าความดันโลหิตที่ยอมรับได้ในผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ควรต่ำกว่า 150/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าอายุน้อยกว่า 60 ปี หรือเป็นเบาหวาน หรือมีภาวะไตเสื่อม ค่าความดันโลหิต ควรต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

แนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง
          จากการการศึกษาที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าการให้ยาลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูงได้ นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทุกรายควรจะได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยาร่วมด้วย ดังนี้

  1. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก หมายถึงการออกกำลังกาย ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย วันละ 15-30 นาที 3-6 วันต่อสัปดาห์ และการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  2. ลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
  3. งดบุหรี่
  4. ลดเครียด
  5. รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ โดยการลดอาหารเค็มจัด ลดอาหารมัน เพิ่มผักผลไม้ เน้นอาหารพวกธัญพืช ปลา นมไขมันต่ำ ถั่ว รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อแดง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวานจะทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้
  6. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่เพราะมียาบางตัวทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ปรึกษาแพทย์ถ้าต้องใช้ยาคุมกำเนิด

          โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่มีอาการแต่อันตราย ดังนั้นเมื่อท่านตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงแล้ว ควรมาพบแพทย์ตามนัด รับประทานยาสม่ำเสมอควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตามมา

 

ติดตามข่าวสารสุขภาพและนวัตกรรมด้านสุขภาพ ได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/myhealthfirstofficial

tiktok : @myhealthfirst_mhf

โพสต์เมื่อ : 28/01/2020
บทความที่คุณอาจสนใจ